สตง.ลุยต่อเทศบาลใช้ระบบจัดเก็บรายได้ไม่
คุ้มค่า สงสัยจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน คนบงการ
ส.ท.ท.--ผู้บริหารเทศบาล โยนสถ.ชี้ว่าจ้างวางระบบไม่ทันสมัย
โปรแกรมไม่สมบูรณ์และไม่ได้ตั้งใจทำให้รัฐเสียหา
ผู้บริหารเทศบาลหลายแห่ง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง
ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ตรวจสอบโครงที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
จัดสรรงบประมาณอุดหนุนทั่วไปให้เทศบาลกว่า 400 ล้านบาท
เพื่อนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) มาใช้
ในการจัดเก็บรายได้ของเทศบาล
และเทศบาลหลายแห่งนำงบฯเทศบาลมาดำเนินการอีกจำนวนหนึ่ง แต่กลับพบปัญหา
โดยจากการสุ่มตรวจเทศบาล 71 แห่ง ไม่สามารถใช้ประโยชน์
หรือใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกว่า 143 ล้านบาท
นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)
กล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ว่าปัญหาน่าจะเกิดจาก
สถ.ให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเข้ามาวางระบบ จึงทำให้ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน
โปรแกรมคอมพิวเตอร์มีปัญหา นอกจากนี้
ยังมีปัญหาการเลือกตั้งที่เทศบาลบางแห่งอาจเปลี่ยนตัวผู้บริหาร
งานจึงไม่ต่อเนื่อง ขณะนี้ ส.ท.ท.ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
และสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
พัฒนาโปรแกรมระบบจีไอเอสสำหรับงานแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน
เพื่อใช้ในระบบงานของเทศบาลสมาชิกเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว
นอกจากนี้ ส.ท.ท .ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
จัดฝึกอบรมการจัดทำแผนที่ภาษี การใช้โปรแกรมปฏิบัติงาน โดยวันที่ 15-21
มิถุนายนนี้ จะจัดที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา
สำหรับระบบใหม่นี้มีการใช้งานที่เทศบาลต้นแบบ คือ เทศบาลเมืองลำพูน
เทศบาลเมืองปทุมธานี เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์
ขณะที่ผู้บริหารเทศบาล ที่มีรายชื่อในกลุ่ม 25 เทศบาล ที่ถูกสุ่มตรวจพบ
มีปัญหาไม่ได้ใช้งาน
และใช้งานระบบจีไอเอสมาใช้จัดเก็บรายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนั้น นายอำนาจ
วิทยา ปลัดเทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ได้รับงบฯทำระบบจาก
สถ.เมื่อปี 2548 วงเงิน 13 ล้านบาท ใช้ไปแล้วประมาณ 6 ล้านบาท
ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้นโครงการ
พบปัญหาเกิดจากบุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ระบบจีไอเอส
ประกอบกับข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เจริญเติบโตสูง
ทำให้การจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน
"ที่ผ่านมาจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2550 ประมาณ 30 ล้านบาท ปี
2551 สูงถึง 36 ล้านบาท การันตีจากรางวัลจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพจาก
สถ.ปี 2551Ž"นายอำนาจกล่าว และว่า
ขณะนี้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานตามโครงการและจัดฝึกอบรมบุคลากร
เพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพ
นายพงษ์พิสิทธิ์ ศรีจั้นแก้ว นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลผักไห่ อ.ผักไห่
จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า
สตง.มีหนังสือถึงเทศบาลว่าจากการประเมินผลการใช้ระบบจีไอเอสจัดเก็บรายได้
ไม่ได้ตรงตามประสงค์ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ โปรแกรมไม่สมบูรณ์
และเจ้าหน้าที่ขาดความชำนาญ
เทศบาลแก้ไขปัญหาแล้วโดยจัดหาคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมพร้อมโปรแกรมที่สมบูรณ์
โดยจ้างบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางระบบ
และจ้างผู้ปฏิบัติงานที่มีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์
"ปี 2549 จัดเก็บได้ 2,251,077 บาท ทดลองใช้จีไอเอสปี 2550 เก็บได้
3,587,297 บาท ปี 2551 ได้ 3,586,620 บาท จะเห็นได้ว่าจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
แต่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เก็บภาษีแบบก้าวหน้าไม่ได้ เมื่อ
สตง.แจ้งว่าควรปรับปรุงเทศบาลพร้อมดำเนินการ"นายพงษ์พิสิทธิ์กล่าว
นายพงษ์พิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น โทษองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะเป็นโครงการนำร่อง
คำว่านำร่องหมายถึงเพิ่งทดลองทำ ลองผิดลองถูก
ขอยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจให้รัฐเสียหาย
นายชโลม โปลิตานนท์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลท่าเรือ อ.ท่าเรือ
จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า
เป้าประสงค์ของโครงการเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน
หากทำได้ประชาชนและรัฐจะได้ประโยชน์สูงสุด
แต่เมื่อทดลองทำอาจต้องปรับแก้กันบ้าง และเทศบาลเร่งแก้ไขอยู่
และปกติสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย
แต่ช่วงเศรษฐกิจแบบนี้จะให้เก็บตามตัวเลขในอัตราก้าวหน้าไม่ได้
หากเก็บได้เท่าปีก่อนถือว่าดีแล้ว
ว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรี เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
กล่าวว่า เทศบาลนครถือเป็นองค์กรใหญ่สุดของเทศบาลที่นำร่องโครงการนี้
เมื่อผิดพลาดได้แก้ไขตามข้อแนะนำ แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี
หากเก็บภาษีในให้ได้ตัวเลขแบบก้าวหน้าที่กำหนดไว้คงทำได้ลำบาก
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า
ภายหลังการตรวจพบปัญหาที่เกิดขึ้น
สตง.ได้ทำการแจ้งข้อบกพร่องการใช้งานระบบจีไอเอสของเทศบาล
ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สถ. และเทศบาลต่างๆ
เข้าไปปรับปรุงแก้ไขทันที ซึ่งขณะนี้
สตง.กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรอให้หน่วยงานชี้แจงข้อเท็จจริง
และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามาให้รับทราบ เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว
ระบบจีไอเอสถือเป็นเครื่องมือสำคัญ
ที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ที่ดี
หากมีการใช้งานเกิดขึ้นจริง และเต็มตามประสิทธิภาพ
ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานให้บริการประชาชน
"โครงการนี้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นได้ชัดเจน
ถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าของหน่วยงานราชการ
ทั้งในส่วนของคนจ่ายเงิน และคนได้รับเงิน ไปซื้อของมาใช้
กับไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
บางหน่วยงานเห็นเขาไปซื้อมาใช้บ้างก็ไปซื้อตาม แต่ซื้อมาก็ใช้ไม่เป็น
ทำกันเป็นแฟชั่น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
เนื่องจากความไม่พร้อมทั้งในเรื่อง คน และเครื่องมือ
ที่จะรองรับการใช้งาน"นายพิศิษฐ์ระบุ
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า
นอกเหนือจากการตรวจสอบเรื่องคุ้มค่าในการติดตามระบบจีไอเอสของเทศบาลแล้ว
สตง.กำลังขยายผลการตรวจสอบเชิงลึก
เกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการวางระบบจีไอเอส
ครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
และกระบวนการจัดซื้อจัดระบบของแต่ละเทศบาลด้วย ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่
และมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
และมีใครอยู่เบื้องหลังสั่งการให้มีการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่
ส่วนเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยจะเสนอ ครม. วันที่ 19 พฤษภาคม
พิจารณาการเลือกตั้งกำนันโดยตรงนั้น นายกวี ศรีวิสุทธิ์
อดีตประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า
เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาการให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เลือกกำนั้น
ทำให้ความผูกพันระหว่างกำนันกับประชาชนขาดหายไป
ที่ผ่านมามีหลายตำบลในพื้นที่นครศรีธรรมราช
ที่ผู้ใหญ่บ้านวิ่งเต้นซื้อเสียงผู้ใหญ่บ้านด้วยกันเพื่อให้เลือกเป็นกำนัน
อยากให้แก้กฎหมายเปลี่ยนมาใช้การเลือกตั้งโดยประชาชนจะดีกว่า
ข่าววันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:19:15 น. มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1242652785&grpid=01&catid=01
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น